การจอดรถขวางหน้าบ้านคนอื่น หรือจอดรถขวางทางเข้าออก ถือเป็นอีกหนึ่งปัญหาโลกแตกที่เจ้าของบ้านต้องตามแก้ปัญหาอยู่เป็นประจำ จะกดกริ่งบ้านเรียกก็แล้ว แขวนป้ายห้ามจอดรถขวางประตูก็แล้วคุณเองก็ยังเมินเฉย ทำให้เจ้าของบ้านต้องเสียอารมณ์และเวลา ซึ่งคุณรู้ไหมครับว่าการจอดรถขวางหน้าบ้านนั้นผิดกฎหมายและมีค่าปรับอีกด้วย ดังนั้น ก่อนที่เจ้าของบ้านจะหมดความอดทนจนเป็นเรื่องราวใหญ่โต นี่คือกฎหมายจอดรถขวางหน้าบ้าน และเงินค่าปรับที่ต้องเสียเมื่อละเมิดกฎหมาย
ผิดไหม หากจอดรถริมรั้ว หรือจอดบนถนนหน้าบ้านตัวเอง?
ก่อนอื่น ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า พื้นที่หน้าบ้านไม่ใช่กรรมสิทธิ์ของเจ้าของบ้าน แต่เป็นเพียงพื้นที่ที่อยู่ติดกับตัวบ้าน ผู้อื่นจึงยินยอมให้เจ้าของบ้านนั้นใช้ประโยชน์ได้ก่อน แต่การใช้ประโยชน์นั้นต้องไม่ผิดกฎหมาย และไม่ส่งผลกระทบต่อผู้อื่น
นอกจากนี้สิทธิ์ที่เจ้าของบ้านจะได้เพิ่มเติมก็คือ ช่องประตูที่ขออนุญาตไว้เรียบร้อยแล้วว่าเป็นทางเข้าออก โดยจะถูกระบุไว้ว่าเป็นทางสัญจร ซึ่งถือเป็นทางสัญจรสำหรับเจ้าของบ้านคนเดียว
กฎหมายห้ามจอดรถบริเวณใดบ้าง?
กระทรวงยุติธรรม ได้มีการชี้แจงข้อกฎหมายเพื่อไขข้อข้องใจไว้ ตาม พ.ร.บ. จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 55 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ห้ามมิให้ผู้ขับขี่หยุดรถ
1. ในช่องเดินรถ เว้นแต่หยุดชิดขอบทางด้านซ้ายของทางเดินรถในกรณีที่ไม่มีช่องเดินรถประจำทาง
2. บนทางเท้า
3. บนสะพานหรือในอุโมงค์
4. ในทางร่วมทางแยก
5. ในเขตที่มีเครื่องหมายจราจรห้ามหยุดรถ
6. ตรงปากทางเข้าออกของอาคารหรือทางเดินรถ
7. ในเขตปลอดภัย
8. ในลักษณะกีดขวางการจราจร
ดังนั้นหากเป็นถนนในหมู่บ้าน การจอดรถไว้ริมรั้ว ริมถนนหน้าบ้านตนเอง หรือหน้าประตูเข้าออกบ้านตนเองที่ถือเป็นทางสัญจรสำหรับเจ้าของบ้าน ก็ยังถือว่ามีโอกาสผิดในข้อต่างๆ ได้ หากเป็นกรณีดังต่อไปนี้
• จอดรถอยู่ในบริเวณทางร่วม ทางแยก
• จอดรถในเขตที่มีเครื่องหมายจราจรห้ามหยุดรถ
• จอดรถตรงปากทางเข้าออกของอาคารหรือทางเดินรถ
• จอดรถในเขตปลอดภัย
• จอดรถในลักษณะกีดขวางการจราจร